จะทำไงดีอุดฟันไปแล้วก็ยังผุอีก ?
พูดถึงเรื่องอุดฟันแล้ว หลายคนเข้าใจว่าเป็นการอุดฟันผุ ฟันที่มีรู ไม่ให้ผุอีก และเมื่ออุดฟันแล้วฟันก็จะไม่มีโอกาสผุได้อีก ความเข้าใจนี้ถูกอยู่บางส่วนเท่านั้นเองครับคือการอุดฟันเปนการอุดฟันที่ผุ ฟันที่มีรู
อ้าว! แล้วที่เข้าใจมาตลอดว่า อุดฟันแล้วฟันจะไม่ผุอีกเลยล่ะ เข้าใจผิดหรอ?
เอาเป็นว่า เรามาปรับความเข้าใจกันดีกว่า ขออธิบายคร่าวๆเรื่องอุดฟันให้ฟังก่อนแล้วกันนะครับ ว่าการอุดฟัน เป็นการบูรณะฟันครับ เพื่อให้ฟันที่ผุใช้งานได้เหมือนเดิม อุดฟันแล้วอาจได้ฟันที่รูปร่างดีกว่าเดิมพร้อมๆกับใช้งานได้อย่างเต็มที่ด้วยครับ อุดฟันไม่ได้ใช้ในเฉพาะกรณีฟันผุนะครับ อุดฟันสามารถทำได้ในกรณีฟันแตก ฟันบิ่น ฟันมีรอยสึกก็ได้ด้วย หรือถ้าเสียวฟัน การอุดฟันก็ช่วยได้ครับ แล้วแต่กรณีไป
ส่วนขั้นตอนการอุดฟันก็ขึ้นอยู่กับตัววัสดุที่ใช้อุดครับ มีให้เลือก 2 ชนิด คือ อมัลกัม และ คอมโพสิต อมัลกัมเป็นวัสดุสีเงินที่มักใช้อุดฟันกราม ส่วนคอมโพสิตเป็นวัสดุสีคล้ายฟันส่วนมากใช้อุดฟันหน้า ก่อนอุดฟันก็ต้องเตรียมฟันกันก่อน คือกรอเอาเนื้อฟันที่ไม่ดีออก แต่งฟันให้มีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมให้วัสดุยึดติดกับเนื้อฟันได้ดี ถ้าใช้อมัลกัมก็จะต้องทิ้งไว้ให้วัสดุแข็งตัวเต็มที่ประมาณ 24 ชั่วโมง บางคนที่ต้องอุดฟันกรามทั้ง 2 ข้าง ทันตแพทย์ก็จะทำให้ทีละข้าง เพราะหลังจากอุดอมัลกัมแล้วจะยังไม่สามารถใช้งานได้ทันที ส่วนอุดฟันคอมโพสิตจะมีการใช้แสงเข้าช่วยเพื่อเร่งปฏิกิริยาให้วัสดุแข็งตัวเร็ว คือใช้เวลาแค่ประมาณ 40 นาทีเท่านั้น และยังสามารถใช้งานได้ทันทีด้วย
การอุดฟันไม่ว่าจะใช้วัสดุชนิดใด จะเกิดรอยต่อระหว่างวัสดุกับผิวฟัน ถ้ารอยอุดนี้ไม่แนบสนิทกับผิวฟันก็จะทำให้เกิดร่องเป็นที่สะสมของแบคทีเรีย และฟันก็จะผุได้อีก ดังนั้นหลังจากอุดฟันทันตแพทย์จะต้องขัดแต่งฟันให้ขอบแนบกับเนื้อฟันให้สนิทแนบแน่น ไม่ให้มีร่องให้แบคทีเรียอาศัยอยู่ พอเป็นร่อง แปรงสีฟันก็เข้าไม่ถึงอีก ตรงนี้แหล่ะ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันที่อุดแล้วก็ยังผุได้ครับ บางคนไม่ทราบอุดแล้วก็ไม่ได้กลับมาให้ทันตแพทย์จัดแต่งฟันต่อ ทำให้ฟันผุซ้ำซาก
ฉะนั้น เสียเวลาคุยและสอบถามขั้นตอนการอุดฟันจากทันตแพทย์ของคุณให้ละเอียดครบถ้วน ถึงแม้อุดฟันจะเป็นแค่ขั้นตอนการรักษาฟันผุขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าเรารู้ว่าอุดฟันมีขั้นตอนอะไรบ้างที่จะทำให้เราไม่ต้องฟันผุอีก ก็จะดีกว่า จริงมั้ยครับ